บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สารตะกั่วในของเล่นเด็ก


สารตะกั่วในของเล่นเด็ก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุปราณี แก้วภิรมย์
ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา

เป็นที่ทราบกันดีว่าของเล่นเป็นสิ่งสำคัญของเด็ก เหมือนเป็นอาหารสมองและจิตใจ ที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีทั้งด้านร่างกาย จิตใจและสังคม ดังนั้นพ่อ แม่ จึงนิยมซื้อของเล่นให้ลูก เพราะอยากให้ลูกได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน และมีพัฒนาการที่สมวัย แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าของเล่นที่สีสรรสวยงามเหล่านั้นอาจแฝงไปด้วยอันตรายจากสีที่ดึงดูดใจเด็กๆ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2552 แพทยสภาร่วมกับราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย แถลงข่าวเรื่อง “อันตรายจากของเล่นเด็กและอุบัติเหตุใน กทม.” ความว่า ในปี 2551 ราชวิทยาลัยฯ ได้ร่วมกับภาคีดำเนินการเก็บตัวอย่างของเล่นจากศูนย์พัฒนาเด็กสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 23 ศูนย์

เพื่อตรวจหาสารตะกั่ว พบว่า ของเล่นจาก 4 ศูนย์ หรือคิดเป็นร้อยละ 17 มีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานกำหนดที่ 600 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ได้เก็บตัวอย่างของเล่นที่วางขายหน้าโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร 26 แห่ง พบว่า ของเล่นจากหน้าโรงเรียน 4 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 15 มีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานกำหนด คำถามที่อาจจะเกิดกับท่านขณะนี้ก็คือ ตะกั่วคืออะไร เข้าไปอยู่ในของเล่นได้อย่างไร แล้วลูกๆ ของท่านจะได้รับอันตรายจากสารตะกั่วนี้อย่างไรบ้าง

ตะกั่วเป็นโลหะหนักสีเทาเงิน หรือแกมน้ำเงิน มีสมบัติที่อ่อนตัวสามารถดัดเป็นรูปร่างต่างๆได้ จึงถูกนำมาใช้ประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสีทาบ้าน สีในของเล่นเด็ก สีวาดภาพ หรือสีที่ใช้พิมพ์ในวารสารต่างๆ นอกจากนี้ยังใช้มากในเครื่องสำอาง หมึกพิมพ์ เครื่องปั้นดินเผา และแบตเตอร์รี่ เป็นต้น สารตะกั่วสามารถอยู่ได้ทั้งในอากาศ น้ำ และดิน แม้ว่ารัฐบาลได้มีความพยายามที่จะลดสารตะกั่วออกจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา เช่นการใช้น้ำมันที่ปราศจากสารตะกั่ว การใช้ท่อประปาที่ทำจากพลาสติกชนิดพีวีซี แต่ก็ยังพบสารตะกั่วได้ในสิ่งแวดล้อม
สารตะกั่วเป็นพิษจะพบได้บ่อยที่สุดในบรรดาโรคที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม มักจะเกิดในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 6 ปีโดยเด็กจะได้รับสารนี้จากเศษสีที่หล่นจากอาคาร ของเล่น สีวาดภาพ หรือจากฝุ่นละอองในอากาศ น้ำ หรืออาหาร อาการเป็นพิษจะเกิดเมื่อมีการสะสมของตะกั่วในร่างกายสูงพอ เด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือน ถึง 6 ปี จะเสี่ยงต่อการเกิดพิษต่อสารตะกั่วเนื่องจากเด็กต้องการแร่ธาตุมากว่าผู้ใหญ่ และเด็กมักจะหยิบของจากพื้นรับประทาน เอาของเล่นเข้าปาก หรือไม่ได้ล้างมือให้สะอาด และเด็กที่อาศัยในกลางเมืองที่มีจราจรแออัดจะเสี่ยงต่อการเกิดพิษมากกว่าเด็กในชนบท อาการของสารตะกั่วเป็นพิษไม่มีลักษณะเฉพาะ อาการจะเป็นมากหรือน้อยขึ้นกับ อายุ ปริมาณของสารตะกั่วที่ได้รับ และระยะเวลาที่ได้รับสารตะกั่ว เด็กบางคนไม่มีอาการ บางคนก็มีปัญหาเกี่ยวกับการเรียนรู้ ปวดท้อง ปวดศีรษะ สำหรับเด็กที่ชอบเอาของเล่นเข้าปาก สารตะกั่วจากสีในของเล่นบางส่วนจะถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต โดยไปจับกับเม็ดเลือดแดงแทนที่ธาตุเหล็ก

ซึ่งเป็นโลหะที่จำเป็นในการสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้เกิดอาการโลหิตจาง และสารตะกั่วบางส่วนจะเข้าไปสะสมอยู่ในกระดูก โดยตะกั่วจะเข้าไปแทนที่แคลเซียม ซึ่งเป็นโลหะที่จำเป็นในการสร้างกระดูกและฟัน และจะติดอยู่กับตัวเด็กไปจนโตแล้วจะละลายเข้าเนื้อเยื่อ ทำให้มีผลต่อเซลล์สมอง หากได้รับซ้ำๆ จะทำให้พัฒนาการล่าช้าและระดับไอคิวต่ำ สำหรับเด็กที่ได้รับสารตะกั่วเป็นเวลานานและมีสารตะกั่วในเลือดสูงจะชัก โคม่าและเสียชีวิตในที่สุด สำหรับผู้ใหญ่อาจจะทำให้เกิดความดันโลหิตสูงและทำลายระบบอวัยวะสืบพันธ์ ทักษะในการทำงานลดลง ไม่กระตือรือร้น มีพฤติกรรมแปลกๆ อาเจียน และชักได้ ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการเบื่ออาหาร ปวดท้องท้องผูก และอาเจียนเป็นพักๆ นอกจากนี้ยังทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย เป็นโรคโลหิตจาง และมีผลต่อการทำงานของไต

สำหรับสตรีที่ตั้งครรภ์ หากได้รับสารตะกั่วเป็นปริมาณมากอาจจะทำให้เกิดแท้ง คลอดก่อนกำหนด เด็กที่เกิดมาจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ การทำงานของสมองจะพัฒนาช้า ปัญญาอ่อน และชัก

สารตะกั่วถูกกำจัดออกจากร่างกายได้โดยทางปัสสาวะ ร้อยละ 76 ทางอุจจาระ ร้อยละ 16 และทางอื่นๆ เช่น เหงือก ผม เล็บ และน้ำนม ร้อยละ 8 อย่างไรก็ตามการกำจัดออกโดยธรรมชาติต้องอาศัยระยะเวลานาน ดังนั้นหากได้รับสารตะกั่วปริมาณมากอย่างเฉียบพลัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับประทาน จะต้องไปพบแพทย์ทันที เพื่อแพทย์จะทำการล้างท้อง โดยใช้สารละลายโซเดียม หรือแมกนีเซียมซัลเฟต หรือให้ผงถ่านเพื่อป้องกันการดูดซึม แล้วรักษาตามอาการ ส่วนการรับสารตะกั่วสะสมเป็นเวลานานๆนั้น จะมีอาการพิษเรื้อรังซึ่งอาการเริ่มแรกสังเกตุค่อนข้างยาก เช่นอาการปวดหัว คลื่นไส้ กระสับกระส่ายซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตรวจเลือด และปัสสาวะร่วมกับการสังเกตุอาการ หากผลการตรวจพบปริมาณตะกั่วในร่างกายเกินระดับเริ่มเป็นพิษ (เกิน 40 ไมโครกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ในเลือด หรือเกิน 100 ไมโครกรัมต่อลิตร ในปัสสาวะ) แพทย์ก็จะให้ยากำจัดตะกั่วออกทางปัสสาวะ โดยการฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำ

ของเล่นเด็กที่มีสารตะกั่วเกินกว่ามาตรฐานกำหนดจึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับเด็ก ดังนั้นในการเลือกซื้อของเล่นให้กับเด็ก นอกจากต้องเลือกชนิดที่มีความปลอดภัยและเหมาะกับพัฒนาการของเด็กในแต่ละวัย พ่อแม่ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับตรามาตรฐานอุตสาหกรรมหรือ มอก. นอกจากนี้ก่อนเลือกซื้อเครื่องมือศิลปะสำหรับเด็กเล็กทั้งดินน้ำมัน สีแท่ง สีเทียน ควรตรวจสอบว่ามีส่วนผสม หรือมีการปนเปื้อนของสารที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อเด็กหรือไม่ พ่อแม่จำเป็นต้องเป็นผู้เลือกของเล่นด้วยตัวเอง ไม่ควรพาลูกไปเลือกของเล่นด้วย เพราะเด็กอาจจะถูกสีสันของของเล่นหลอกล่อ จนพ่อแม่ไม่สามารถเลือกของเล่นที่มีประโยชน์และปลอดภัยให้กับลูกได้ อย่างไรก็ตามของเล่นที่ดีมีคุณภาพ อาจมีราคาแพง ทางเลือกหนึ่งในการประหยัดเงินในการซื้อของเล่นให้ลูกคือ พ่อแม่อาจรวมกลุ่มกันเพื่อแลกเปลี่ยนของเล่นของลูกๆ

ไม่ว่าจะเป็นเด็กหญิงหรือเด็กชาย หากเป็นของเล่นมีสร้างสรรค์ ปลอดภัย และสามารถกระตุ้นพัฒนาการของเด็กก็สามารถเล่นร่วมกันโดยเวียนกันเล่นได้ นอกจากนี้ การละเล่น ของเล่นพื้นบ้าน หรือของเล่นเด็กที่ทำขึ้นเองซึ่งมีราคาไม่แพง ก็สามารถเล่นได้อย่างสร้างสรรค์ และยังสามารถเล่นด้วยกันได้เป็นกลุ่ม หรือเล่นได้ทั้งครอบครัวอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง
1. กิจชัย ศิริวัฒน์ และ กุลธิดา ถาวรกิจการ 2532 ความรู้เกี่ยวกับสิ่งเป็นพิษ ตอนที่ 5 เรื่องพิษจากโลหะตะกั่ว กองพิษวิทยา กรมวิทยาศาตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
2.http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9520000001001 (วันที่ค้นข้อมูล 9 มกราคม 2552)
3. http://www.siamhealth.net/environment/lead.htm (วันที่ค้นข้อมูล 6 ตุลาคม 2550)

ไม่มีความคิดเห็น:

รายการบล็อกของฉัน